วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ศิลป วัฒนธรรมและประเพณี

การละเล่นพื้นบ้านของชาวยางชุมใหญ่

12 เป็นจารีตประเพณี 12 เดือนที่ทุกคนในหมู่บ้านจะต้องเรียนรู้มีดังนี้
1. เดือนอ้ายหรือเดือนเจียง มีงานบุญเข้ากรรม มีงานบุญนำผ้าห่มกันหนาวไปถวายพระสงฆ์ ถ้าเปรียบเทียบกับเดือนไทยในปัจจุบันน่าจะอยู่ช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นฤดูหนาว ปัจจุบันจารีตประเพณีนี้ค่อนข้างจะจางหาย ในช่วงเดือนอ้ายนี้จะเป็นฤดูหนาวที่คนในหมู่บ้านกำลังมีงานที่ต้องทำจนวนมากในตอนกลางวันก็จะเก็บเกี่ยวข้าว หอม มัดหอม ตอนเย็นก็แขวนหอมช่วยเพื่อนบ้าน แทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน สำหรับคนทำงาน ส่วนเด็กวัยรุ่นก็จะนำวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้ เช่น วันคริสต์มาส วันส่งท้ายปีเก่า
2. เดือนยี่ ประมาณเดือนมกราคม มีงานคูณลาน ทำบุญที่วัด นิมนต์พระสงฆ์เทศนาเรื่องพระแม่โพสพ บำรุงขวัญการเกษตร ทำพิธีปลงข้าวในลาน แล้วขนข้าวขึ้นฉาง ( เล้า ) บางครอบครัวยังนับถือประเพณีอันดีอยู่ ไม่ยอมขายข้าว จ่ายข้าว ถ้ายังไม่ได้ทำบุญ ถ้ายังไม่ได้เอาขึ้นเล้า เพื่อสร้างสิริมงคลให้ข้าวให้ขวัญกำลังใจผู้ปลูกข้าว มีผลผลิตที่ดี และให้รู้จักบุญคุณของข้าว แต่ปัจจุบันก็มีบางครอบครัวเริ่มขายข้าวเขียว คือไปกู้หนี้ยืมสินเขามา เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จยังมาไม่ถึงเล้าเจ้าของเงินเขามาเก็บแล้วจำเป็นต้องให้เขาไป หรือลูกหลานต้องการเงินใช้จ่าย เมื่อไม่มีเงินก็ต้องเอาไปขาย จนมีคำกล่าวว่าขายง่ายที่สุดไม่ต้องต่อรองราคาให้เสียเวลาก็คือขายข้าว ปัจจุบันเดือนยี่ก็จะมีบุญขึ้นบ้านใหม่ มีบุญประจำปีคูณลานข้าว หอม กระเทียม ที่วัด พร้อมกับทำบุญประจำปีเพื่อหารายได้สร้างวัด
3. เดือนสามมีบุญข้าวจี่ คืองานเลี้ยงลาตาแฮก หลังจากขนข้าวขึ้นยุ้งฉางแล้ว มีการแยกเรียกขวัญข้าว ( กู่ขวัญข้าว ) ชาวยางชุมใหญ่เป็นหมู่บ้านเกษตรกร มีข้าวเป็นอาหารหลัก เพราะฉะนั่นข้าวจึงมีพระคุณต่อผู้คน จึงควรแสดงความกตัญญูกตเวที ไม่ลบหลู่บุญคุณของข้าว ทุกวันนี้มากกว่าครึ่งก็ยังรักษาจารีตประเพณีนี้อยู่ แต่ก็มีบางครอบครัวได้งดเว้นไป โดยเฉพาะครอบครัวคนรุ่นใหม่ วัยรุ่นจะเน้นวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรักไปแบบฝรั่ง ช่วงเดือนสามเป็นเดือนแห่งการรับจ่ายเงินในครอบครัว ได้มีการขายหอม ขายข้าว และจ่ายหนี้ที่กู้ยืมมา ถ้าปีไหนเศรษฐกิจดีหน้าชื่นดีใจ แต่ถ้าปีไหนเศรษฐกิจไม่ดีก็เหงาไปตามกัน แต่เดือนสามก็คือเดือนแห่งความหวังของชาวบ้านทุกคน
4. เดือนสี่ มีพิธีทำบุญผะเวส และฟังเทศน์มหาชาติ บางปีก็ไปทำเอาเดือนห้า บางปีก็ลืม บางปีก็ตรงกับจารีตประเพณี เคยมีครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อชาวบ้านไม่ยอมทำบุญผะเวสจะเกิดเภทภัยต่างคนต่างโจษจันไปต่าง ๆ นานา ทุกวันนี้บุญนี้ก็ยังสืบสานกันต่อแต่ขาดความสสำคัญลงไป
5. เดือนห้า มีเทศกาลงานสงกรานต์ บางปีก็มีการจัดเป็นพิเศษที่ยิ่งใหญ่ มีการกราบไหว้ท่านผู้อาวุโสทำเป็นปีผู้อาวุโส บางปีก็ผ่านเลยไป จริง ๆ แล้วส่งกรานต์บ้านยางชุมใหญ่จะมีเวลายาวถึง 1 เดือน โดยจะเริ่มเอาพระลงสรงวัน 1 ค่ำเดือน 5 จนถึง 15 ค่ำเดือน 5 รวมเป็นเวลา 1 เดือน จะมีการละเล่นสงกรานต์ มีการตบประทาย มีการไปเล่นน้ำมูล ปัจจุบันจะเล่นกันจริง ๆ ตามที่รัฐบาลประกาศ คือประมาณ 3 วัน ช่วงวันที่ 12 – 14 เมษายน ของทุกปี เด็กวัยรุ่นชอบชวนกันไปอาบน้ำมูลที่ท่าห้วยครก ส่วนการพิธีของสงฆ์ การสรงพระจะดำเนินการตามปกติเช่นทุกปีตลอดมา ลูกหลานจะต้องตักน้ำไปให้ปู่ย่า ตายายอาบ ให้คนแก่อายุยืนและให้อวยพรลูกหลาน
6. เดือนหก มีงานบุญวิสาขบูชา บุญขอฝน บุญบั้งไฟ วันเพ็ญเดือนหกเป็นวันที่สำคัญยิ่งของศาสนาพุทธจะต้องมีการเวียนเทียนกันทุกปี และหลายครั้งกรรมการหมู่บ้านมักจะทำบุญผ้าป่าขึ้นโดยทำบุญบั้งไฟไปพร้อม ถ้าปีไหนมีบั้งไฟก็จะให้ความสำคัญของบัญบั้งไฟมากกว่า เน้นความสนุกสนาน และมักจะจัดแทบทุกปี ส่วนการเวียนเทียนช่วงค่ำนั้น ปัจจุบันมักจะเพี้ยนไปคือรีบเวียนเทียนรีบกลับบ้าน เพราะทุกวันนี้ผู้คนติดรายการโทรทัศน์ จึงไม่ยอมเสียเวลาในการเวียนเทียน และไม่ชอบให้พระเทศน์ให้ฟังยาว ๆ
7. เดือนเจ็ด มีงานบวชนาค เดิมทุกปีจะมีคนบาชจำนวนมาก ก็จะนัดหมายจัดงานบวชขึ้นพร้อมกัน แต่ปัจจุบันมีนาคน้อย การจัดงานก็ไม่ค่อยมี บางทีก็ไปบวชร่วมกับบ้านอื่น ประเพณีนี้ส่วนใหญ่ก็ยังมีการสืบสานต่อกันมาทุกปี
8. เดือนแปด มีเทศกาลงานเข้าพรรษาวันอาสาฬหบูชา เป็นงานหนึ่งที่ทางราชการได้ส่งเสริมเป็นพิเศษ โดยเฉพาะให้มีการตั้งตนให้อยู่ในศีล ละเว้นอบายมุข ประชาชนส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญ มีการสร้างต้นเทียนเข้าพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน ในระหว่างอยู่พรรษาของพระสงฆ์ถือว่าได้กุศลยิ่ง
9. เดือนเก้า มีบุญข้าวประดับดิน ในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 เป็นการให้ทานแก่เปรต หรือวิญญาณที่ตกทุกข็ได้ยาก ก็เป็นบุญหนึ่งที่ได้มีการดำเนินกันมาทุกปี
10. เดือนสิบ มีการทำบุญข้าวสากหรือกระยาสารท ไปทำบุญที่วัด ถวายผ้าอาบน้ำฝน และเครื่องไทยทาน ( ทำสังฆทาน ) ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ถือได้ว่าคุณพ่อแม่ ปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้วมีโอกาสที่จะได้รับอาหารจากลูกหลานที่ไปทำบุญ หรือห้อยแขวนข้าวสาก
11. เดือนสิบเอ็ด มีงานบุญออกพรรษา มีการจัดงานใหญ่ มีบุญตักบาตรเทโว พิธีกวนข้าวทิพย์ แห่ปราสาทผึ้ง ไหลเรือไฟ แข่งเรือ บ้านยางชุมใหญ่ของเราจะให้ความสำคัญในการทำปราสาทผึ้เปรียบเทียบได้กับการสร้างบ้านเรือน ปราสาทราชวังให้ญาติที่เสียชีวิตไปได้มีโอกาสได้บ้านที่สวยงาม จึงมีปราสาทผึ้งจำนวนมาก เวลาไปแห่เทียนวันออกพรรษาจะมีผู้คนจำนวนมากแต่งตัวให้สวยงาม ถือได้ว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งและมีการสืบสานมาทุกปี และในช่วงนี้ลูกหลานก็มีโอกาสไปเยี่ยมปู่ย่า นำกล้วย ปลา ขนม อาหารไปให้ปู่ย่า อีกครั้งหนึ่ง
12. เดือนสิบสอง มีบุญกฐิน เป็นประเพณีที่สำคัญ ถ้าปีใดไม่มีคนจองกฐิน คณะกรรมการหมู่บ้านก็จะประชุมกัน สร้างกฐินสามัคคีเพื่อหารายได้สร้างวัด มักจะมีมหรสพสมโภช


เทศกาลหอมแดง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น